Categories
News

ข้อมูลสุขภาพ: โรคหลอดเลือดสมองกับภาวะสมองเสื่อม

ข้อมูลสุขภาพ: โรคหลอดเลือดสมองกับภาวะสมองเสื่อม ภาวะสมองเสื่อม ถือเป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยและเป็นปัญหาที่สำคัญในผู้สูงอายุ แต่ทราบหรือไม่ว่าสมองเสื่อมไม่ได้เกิดจากโรคอัลไซเมอร์เท่านั้น แต่สามารถเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน ที่เรียกกันว่า ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (Vascular dementia) ซึ่งเป็นอาการตามหลังจากการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ที่เกิดได้จากทั้งโรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคหลอดเลือดสมองแตก เมื่อเวลาผ่านไปจะมีอาการสมองเสื่อมตามมา

โรคหลอดเลือดสมอง (Vascular dementia) เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้สมองหยุดทำงานเฉียบพลัน มาจากอาการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองตายในที่สุด โดยเมื่อมีภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรือแตกเกิดขึ้น จะทำให้เซลล์ประสาทขาดออกซิเจนมาเลี้ยง และทำให้เซลล์ประสาทเสียหายและตายในที่สุด หากเกิดขึ้นในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้หรือความจำ ก็จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้น หากภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะทุพพลภาพและมีภาวะพึ่งพา ต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นๆ ในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลกระทบด้านลบต่อครอบครัว ญาติ และผู้ดูแล

ปัจจัยเสี่ยงสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมตามหลังโรคหลอดเลือดสมองนั้น เกิดจากผู้ป่วยมีอาการโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตก โดยแบ่งตามลักษณะของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ดังนี้

– ลักษณะทั่วไปของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมตามหลังโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ เพศหญิง มีอายุมาก มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีโรคหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation) ผู้ป่วยที่มีอาการหลงลืมมาก่อน และความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงต้องมีคนช่วยเหลือดูแลก่อนมีอาการ เป็นต้น

– ลักษณะของโรคหลอดเลือดสมองที่เป็น เช่น มีอาการชัก ตำแหน่งรอยโรคที่สมองข้างซ้าย ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองมาก เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาแล้วหลายตำแหน่ง มีอาการสับสน และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น

อาการของภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

อาการโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองที่สังเกตได้ ได้แก่

มีอารมณ์กระสับกระส่าย ไม่คงที่ หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย
เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง
อาการคิดช้า ลืมง่าย จำเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้
ความสามารถในการวางแผนทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอนลดลง
ความบกพร่องในการใช้ภาษา
อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง สับสน
คิดเลขลำบาก ใส่เสื้อผ้าไม่เป็น
เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก ทำกิจกรรมที่เคยทำไม่ได้

การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองโดยประเมินจากอาการของผู้ป่วย และจากการทำแบบทดสอบทางประสาทจิตวิทยา ร่วมกับการตรวจพบอาการผิดปกติทางระบบประสาท และภาพถ่ายคอมพิวเตอร์สมองพบรอยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันหรือเลือดออกในสมอง นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพิเศษด้วยเครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจสมองด้วยสนามแม่เหล็ก การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสืบค้นสาเหตุ และการตรวจเลือดหาปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น

การรักษาภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

– การรักษานั้นจะเน้นไปที่การรักษาและการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ รวมทั้งการดูแลรักษาปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือด ซึ่งอาจมีผลทำให้การเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำหรือการเกิดโรคแทรกซ้อนน้อยลง เช่น การรักษาความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง รวมทั้งการรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดและยาต้านเกล็ดเลือดตามแพทย์สั่ง เป็นต้น
– การรักษาเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง โดยการรับประทานยาเพื่อรักษา อาจเป็นยาประเภทเดียวกับยาที่ใช้ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์
– การรักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติ โดยให้ยาที่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ในรายที่มีอาการประสาทหลอน สับสน หลงผิด รวมทั้งอาศัยครอบครัวและผู้ดูแลใกล้ชิดที่มีความเข้าใจร่วมดูแลด้วย ประกอบกับมีการประเมินติดตามจากแพทย์
– การรักษาฟื้นฟูสมองและให้มีการฝึกสมองอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การฝึกความจำ การฝึกคิดเลข เกมทดสอบเชาวน์ปัญญา การพูด เขียน อ่านถาม-ตอบ เรื่องภาษาและรูปภาพ และการเรียนรู้สิ่งใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรือแตกแล้ว แม้ว่าจะได้รับการรักษาเร็วหรือช้า ก็อาจทำให้เนื้อสมองบางส่วนถูกทำลายไม่มากก็น้อย จึงพบว่าภาวะความจำเสื่อมมักเกิดภายใน 3 เดือนหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยอาการหลงลืมอาจเป็นทันทีหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือ เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งผู้ป่วยและญาติอาจไม่ทันสังเกตเห็นอาการที่ผิดปกติจากภาวะสมองเสื่อมและทำให้ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับวินิจฉัยที่ถูกต้อง ดังนั้นควรมีการประเมินการรับรู้ ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ระยะแรก